วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561


แนวคิดวิเคราะห์ ความมีอยู่หรือไม่ของ นรก-สวรรค์ ตามหลักพระปฏิจจสมุปบาท
การอธิบายความมีอยู่หรือไม่ของ นรก-สวรรค์ โดยหลักพุทธศาสนาย่อมอธิบายด้วยหลักของภพภูมิ แต่หลักของภพภูมิตามที่มีอธิบายใน 31 ภูมินั้น ขอเสนอข้อคิดเห็นว่าเป็นเนื้อหาที่มากด้วยรายละเอียดแต่ยังขาดหลักพุทธสัจธรรมสำคัญที่ช่วยอ้างอิงเหตุผลของทุกเนื้อหานั้นได้อย่างถ่องแท้ ตลอดจนมีการระบุเป็นวิสามานยนามของอัตภาพชีวิต สถานที่ ในภพภูมิของโลกอื่นที่เป็นภาษาบาลีสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาที่เกิดจากมนุษย์บนโลกนี้ แต่โดยหลักของเหตุผลนั้นเรามิอาจใช้ภาษาบนโลกอ้างอิงวิสามานยนามในภพภูมิโลกอื่นได้ ทั้งยังอาจมีหลักความเชื่ออื่นนอกเหนือพุทธศาสนาที่เพิ่มเติมเข้ามาด้วยหรือไม่ ถือเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรร่วมกันเสนอแนะเหตุผลเพื่อการศึกษาข้อเท็จจริงที่ชัดเจนยิ่งๆขึ้นกันต่อไป

การอธิบายหลักของ ภพ ภูมิ จึงขออ้างอิงหลักพระปฏิจจสมุปบาท ดังนี้

ภูมิในธรรมมีทั้งสิ้น 12 ภูมิ เป็นสังขตภูมิ 11 ภูมิ และอสังขตภูมิอีก 1 ภูมิ (หากภูมิระดับของผลปัจจัยในพระปฏิจจสมุปบาทถือเป็นสัจธรรมตลอดกาลฉันใด จำนวนภูมิดังกล่าวย่อมมีอยู่เป็นสัจธรรมตลอดกาล ฉันนั้น)

ภพ,ภว คือลักษณะที่เอื้อสู่ความเป็นภาวะ โดยเป็นผลปัจจัยลักษณะหนึ่งตามหลักสังขตธรรม และด้วยอยู่ภายใต้หลักพระไตรลักษณ์ของสังขตธรรม ภพจึงไม่อาจมีจำนวนที่ยั่งยืนแน่นอนตลอดกาล ในส่วนของภพปัจจุบันควรกล่าวได้ว่าคือภาวะอันเป็นผิวโลกภายใต้บรรยากาศ,แสงอาทิตย์,แสงจันทร์,เงาเมฆ,ภูมิอากาศ,ภูมิประเทศ ฯลฯ โดยที่สภาวะต่างๆบนโลกนั้นย่อมได้รับอิทธิพลปัจจัยโดยตรงจากลักษณะของอุปาทานธรรมหรือลักษณะอันเป็นที่ยึดมั่นรู้ได้ เช่น ดวงอาทิตย์,ดวงจันทร์,ก้อนเมฆ,และสภาพวัตถุต่างๆบนโลก เป็นต้น และด้วยหลักพระไตรลักษณ์ของสังขตธรรมนั้นชี้ความเป็นอนิจจังไม่แน่นอนตายตัว ดังนั้นภพหนึ่งจึงอาจมีได้หลายภูมิ และภูมิหนึ่งก็อาจมีได้หลายภพ หลายลักษณะการเกิด หลายอาการทุกข์น้อยใหญ่ ฯลฯ

ก่อน ที่จะเข้าสู่ประเด็นการวิเคราะห์ความมีอยู่หรือไม่ของนรก-สวรรค์ นั้นขอยกหลักพระปฏิจจสมุปบาทในการวิเคราะห์ความมีอยู่หรือไม่ของหลักการ เวียนว่ายตายเกิด ดังนี้

อวิชชา ซึ่งเป็นเหตุหรือต้นปัจจัยของสังขตธรรม ย่อมลงเอยหรือสิ้นสุดผลด้วยการเกิดเป็นสภาพชีวิตที่ต้องเป็นปัจจัยสู่การเผชิญทุกข์น้อยใหญ่แล้วมรณาการสิ้นสุดไปในแต่ละขณะและมิอาจเป็นปัจจัยสู่ผลพวงใดต่อจากนั้นได้อีก ดังนั้นอาการทุกข์น้อยใหญ่ที่เกิดกับชีวิตทั้งปวงใดๆย่อมกล่าวได้ว่า "เกิดขึ้นแล้วมรณาการสิ้นสูญ หรือ เกิดแล้วสูญ" ตามกาลเวลาสถานที่ต่างๆของสังขตธรรม

ส่วนสิ่งมีชีวิตทั้งปวงใดๆ "ย่อมเกิดขึ้นมาแล้วเป็นปัจจัยสู่การเกิดอาการทุกข์น้อยใหญ่ตามกาลเวลาสถานที่ต่างๆ" หลักพระปฏิจจสมุปบาทในส่วนนี้จึงชี้ข้อเท็จจริงที่ว่า การเกิดของชีวิตใดๆมิใช่การเกิดแล้วมรณาการสูญสิ้นโดยตรงเหมือนเช่นอาการทุกข์ ส่วนมรณาการของสิ่งมีชีวิต(การตาย) ย่อมกล่าวได้ว่าไม่ใช่อาการทุกข์ แต่คือสภาพสิ้นสุดอาการทุกข์ตามหลักธรรมชาติ(ชีววิทยา)ปัจจุบันใดๆที่เป็นปัจจัยนั้น

ส่วนภพทั้งปวงใดๆ "ย่อมเกิดขึ้นแล้วเป็นปัจจัยสู่การเกิดสิ่งมีชีวิตได้ตามกาลเวลาสถานที่ต่างๆ"

อุปาทานธรรมหรือรูปธรรมผัสสธรรมที่ยังผลสู่ลักษณะที่ยึดมั่นรู้ได้ทั้งปวงใดๆ "ย่อมเกิดขึ้นแล้วเป็นปัจจัยสู่การเกิดภพนั้นๆได้ตามกาลเวลาสถานที่ต่างๆ"

รูปธรรมผัสสธรรมที่ยังผลสู่ลักษณะที่เป็นที่อยากรู้อยากเห็นได้ทั้งปวงใดๆ "ย่อมเกิดขึ้นแล้วเป็นปัจจัยสู่การเกิดลักษณะที่ยึดมั่นรู้ได้ตามกาลเวลาสถานที่ต่างๆ"

(ละ)

วิญญาณธรรมหรือลักษณะอันเป็นอรูปหรือจินตภาพทั้งปวงใดๆ "ย่อมเกิดขึ้นแล้วเป็นปัจจัยสู่การเกิดลักษณะของรูปธรรมปัจจุบันใดๆได้ตามกาลเวลาสถานที่ต่างๆ"

สังขตธรรมอันเป็นอวิญญาณหรืออจินไตย "ย่อมเป็นผลปัจจัยที่มีอยู่ตามเหตุอวิชชาของสรรพชีวิตมาแต่กาลใด และยังผลปัจจัยมาสู่การเกิดลักษณะของวิญญาณธรรมปัจจุบันใดๆได้ตามกาลเวลาสถานที่ต่างๆ"

เมื่อสิ่งมีชีวิตต่างๆมิใช่การเกิดแล้วสูญโดยตรง ดังนั้นจะเป็นการเกิดวนเวียนเรื่อยไปหรือที่เรียกว่าเวียนว่ายตายเกิดหรือไม่ ? หลักพระปฏิจจสมุปบาทนั้นอธิบายเป็นสัจธรรมได้เพียงว่าหากมีอาการเกิดชีวิตขึ้นมาย่อมเป็นปัจจัยสู่อาการทุกข์น้อยใหญ่แล้วมรณาการสิ้นไป แต่เราอาจวิเคราะห์ต่อยอดได้ว่า หากสิ่งมีชีวิตทั้งปวงล้วนยังมีอวิชชาติดตัว เมื่อยังมีอวิชชาอยู่ขณะใดก็ตาม ย่อมยังผลปัจจัยสู่อาการตามหลักสังขตธรรม อันมีทั้ง

ในแง่สังขตธรรมภายใน ซึ่งคือจิตหรือตัวตนจิตใจของชีวิตทั้งปวงที่ย่อมดำเนินไปอย่าง ละเอียดเป็นอจินไตย กว้างใหญ่เป็นอจินไตย เปลี่ยนแปลงไปแต่ละขณะอย่างเป็นอจินไตย ตลอดจนดำรงอยู่มาช้านานจวบจนขณะปัจจัยอุบัติ(ปัจจุบัน)ใดๆ (แต่สังขตธรรมอันเป็นอวิญญาณหรืออจินไตยย่อมยังไม่ถึงขั้นเป็นศูนย์หรืออนันต์สิ้นเชิงซึ่งเป็นลักษณะของอสังขตธรรม)

และในแง่สังขตธรรมภายนอก ซึ่งคือสรรพสิ่งอันเป็นตัวตนความมีอยู่ภายนอกทั้งปวงที่ย่อมครอบคลุมความเป็น อณู อาณา อายุ ที่ละเอียด กว้างใหญ่ รวดเร็ว ช้านาน ฯลฯ อย่างมหาศาลเป็นอจินไตย ที่ได้เอื้ออำนวยสู่การดำรงหรือดำเนินไปของชีวิตจิตใจทั้งปวง (แต่สังขตธรรมอันเป็นสรรพสิ่งตัวตนภายนอกใดๆนั้นยังไม่ถึงขั้นมีลักษณะเป็นศูนย์หรืออนันต์สิ้นเชิงเช่นอสังขตธรรม โดยสังขตธรรมนั้นยังต้องอยู่ภายใต้สภาพอุปสรรคข้อจำกัดหรือทุกขตา อยู่ภายใต้สภาพความเปลี่ยนแปลงหรืออนิจจตา  ส่วนอสังขตธรรมนั้นย่อมเป็นลักษณะโดยเที่ยงแท้สิ้นเชิงที่ครอบคลุมลักษณะในธรรมทั้งปวงทุกกาละ,เทศะใดๆเสมอ ตามหลักพุทธพจน์ สัพเพ ธัมมา อนัตตา)

โดยทั้งนี้ความมีอยู่ของเหตุอวิชชาและผลปัจจัยตามหลักสังขตธรรม ย่อมเป็นสัจธรรมที่ดำเนินมาสู่ลักษณะของวิญญาณธรรม รูปธรรม ผัสสธรรม เวทนาธรรม ฯลฯ จนกระทั่งจะต้องยังผลมาสู่การเกิดธรรมชาติชีวิตตามภพใดๆที่เป็นปัจจัยในที่สุด หากไม่มีสิ่งมีชีวิตเกิดมารับรู้ต่อความมีอยู่ของสังขตธรรม ย่อมไม่อาจมีอยู่ของสังขตธรรมได้เลย เหตุอวิชชาและผลปัจจัยตามหลักสังขตธรรม จึงเป็นสัจธรรมที่มีอยู่คู่กันตลอดกาล

จากเหตุผลที่ว่าเมื่อยังมีเหตุอวิชชาย่อมต้องยังผลปัจจัยสู่การเกิดชีวิตเสมอ ประกอบกับการเกิดของชีวิตต่างๆนั้นเป็นไปสู่ทุกข์น้อยใหญ่เสมอ มิใช่เป็นไปสู่มรณาการสิ้นสูญโดยตรง ดังนั้นการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพชีวิตที่ดำเนินเรื่อยมาจึงเป็นสัจธรรมข้อเท็จจริงทางศาสนา ตราบจนกว่าชีวิตนั้นจะตรัสรู้เป็นอรหัตผลผู้หยุด"เหตุ"อันเป็นอวิชชาได้แท้จริง และเหลือเป็นการเผชิญรับ"ผลปัจจัยตามหลักสังขตธรรมหรือก็คือผลกรรมต่างๆ"ซึ่งล้วนเป็นอาการอนิจจังทุกขังน้อยใหญ่ ไปจนกว่าจะมรณาการสิ้นสุดตามกาลเวลาสถานที่โดยสิ้นเชิงหรือเป็นปรินิพพาน

(พิจารณาประเด็น นรก-สวรรค์)

ภูมิอัตภาพต่างๆในสังขตธรรม และ ภูมิอนัตตภาพ(หรือย่อมเรียกได้ว่าอนันตภาพ)อันเป็นอสังขตธรรม โดยอ้างอิงตามภูมิปัจจัยในพระปฏิจจสมุปบาท มีดังต่อไปนี้

ภูมิแรกนี้หากมีอยู่จริงย่อมเป็นผลปัจจัยอันเป็นไปในภพอื่นที่ผลปัจจัยทางกายภาพชีวภาพ ปัจจุบันมิได้เอื้ออำนวยสู่หลักความเป็นไปของอัตภาพนั้นได้ หรืออาจเป็นธรรมชาติชีวิต ณ กาลเวลาสถานที่ใดในภพปัจจุบันนี้ แต่เรายังมิอาจรู้ความเป็นไปนั้นได้
1. ภูมิแห่งความทุกข์โดยหลัก(ทุคติภูมิ) อัตภาพในภูมินี้ขอเรียกว่า สัมมรณญาณี กล่าวคือดำรงชีพด้วยญาณหรือจิตอันเป็นอาการทุกข์ให้มรณาการสิ้นไปโดยหลัก  หรือโดยสรุปคือ ปัจจัยในธรรมเอื้ออำนวยให้เป็นอยู่ด้วยสัมมรณญาณ มีอาการทุกข์ที่หลากหลายแตกต่างกันไป แต่ถือเป็นภูมิที่เป็นทุกข์โดยหลักเช่นเดียวกัน

2. ภูมิแห่งอาการเกิดโดยหลัก อัตภาพในภูมินี้ขอเรียกว่า สัญชตญาณี กล่าวคือดำรงชีพด้วยญาณหรือจิตเนื่องนับแต่เกิดได้โดยหลัก ตามที่ศึกษาค้นพบ ณ กายภาพโลกปัจจุบัน ได้แก่ จุลชีพต่างๆ เช่น จุลินทรีย์ต่างๆ เซลล์ของเนื้อเยื่อร่างกายพืชสัตว์มนุษย์ เซลล์ปฏิสนธิของพืชสัตว์มนุษย์ ตลอดจนเหล่าพืชและสัตว์เล็กขั้นพื้นฐานโดยสังเขป หรือนอกจากนี้มนุษย์หรือสัตว์ที่อยู่ในสภาพของผู้ป่วยวิกฤตตลอดจนเป็นเจ้าหญิงเจ้าชายนิทราก็จัดอยู่ในอัตภาพของสัญชตญาณีเช่นกัน เพราะโดยศักยภาพของสมองร่างกายนั้นยังไม่อาจดำเนินพฤติกรรมไปตามสภาวะจิตใจหรือถึงขั้นเรียนรู้ยึดถือสิ่งต่างๆได้ชัดเจนเหมือนผู้คนทั่วไป แต่เป็นพฤติกรรมตามสัญชาตญาณชีวิตเป็นสำคัญ  สรุปโดยรวมคือ ปัจจัยในธรรมเอื้ออำนวยให้กระทำสิ่งต่างๆได้ตามสัญชาตญาณ มีสัญชาตญาณและการเกิดที่หลากหลายแตกต่างกันไป แต่ถือเป็นภูมิที่เป็นสัญชาตญาณโดยหลักเช่นเดียวกัน

3. ภูมิแห่งภาวะจิตใจโดยหลัก อัตภาพในภูมินี้ขอเรียกว่า สัมภวญาณี กล่าวคือดำรงชีพด้วยญาณหรือจิตอันเป็นสภาวะจิตใจได้โดยหลัก เช่น สัตว์ขั้นสูงต่างๆในธรรมชาติปัจจุบันโดยสังเขปรวมถึงมนุษย์เด็กเล็ก เช่นมีอาการ ตื่นตกใจ ตื่นกลัว ตื่นเต้น ตื่นระริกระรี้ ซึม เศร้าสร้อย อารมณ์ตื่นตัว ดุดัน เตลิดหรือแตกตื่น ฯลฯได้ชัดเจน ทั้งยังรวมไปถึงมนุษย์ที่พิการทางปัญญาทั่วไป(แต่ยังไม่ถึงขั้นพิการทางปัญญาอย่างวิกฤตรุนแรง)ก็จะมีศักยภาพชีวิตที่จัดอยู่ในอัตภาพของสัมภวญาณีเช่นกัน  สรุปโดยรวมคือ ปัจจัยในธรรมเอื้ออำนวยให้กระทำสิ่งต่างๆได้ตามสภาวะจิตใจ มีภาวะจิตที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามธรรมชาติชีวิตของตน แต่ถือเป็นภูมิที่เป็นสภาวะจิตโดยหลักเช่นเดียวกัน

4. ภูมิแห่งความยึดมั่นโดยหลัก อัตภาพในภูมินี้ขอเรียกว่า สัมปทญาณีหรืออุปทญาณี กล่าวคือดำรงชีพด้วยญาณหรือจิตตามความยึดมั่นได้โดยหลัก ได้แก่ ชีวิต ณ กาลเวลาสถานที่ใดที่สามารถเรียนรู้ตามพฤติกรรมยึดมั่นจดจ่อจดจำ ยึดถือกระทำการสิ่งต่างๆ ฯลฯ ได้ชัดเจนแล้ว เช่นสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการมากพออันเป็นมนุษย์ทั่วไปในธรรมชาตินี่เอง และต้องมีพัฒนาการเติบโตมากพอและไม่พิการทางปัญญาจนเกินไป โดยจะมีพฤติกรรมตามความยึดมั่นยึดถือเช่น หลีกเลี่ยงเปลือยกาย อาศัยสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ สามารถจดจำ สืบทอด สืบสาน เข้าใจ ลอกเลียน ยึดถือในอารมณ์ ฯลฯ  หรือโดยสรุปคือ ปัจจัยในธรรมเอื้ออำนวยให้กระทำตามความยึดมั่นได้ มีอาการยึดมั่นยึดถือที่หลากหลายแตกต่างกันไป แต่ถือเป็นภูมิที่มีพฤติกรรมตามความยึดมั่นโดยหลักเช่นเดียวกัน

5. ภูมิแห่งความอยากโดยหลัก อัตภาพในภูมินี้ขอเรียกว่า สันตนหญาณี กล่าวคือดำรงชีพด้วยญาณหรือจิตตามความอยากไม่อยากได้โดยหลัก โ
ดยภูมิดังกล่าวนี้ในธรรมชาติปัจจุบันนั้นเป็นกลุ่มมนุษย์ที่มีวิวัฒนาการแตกยอดใหม่ออกมาจากข้อ4 โดยสามารถกระทำสิ่งต่างๆไปตามที่ใจต้องการ เช่น อยากรู้อยากเห็น อยากรู้เหตุผล อยากทำเช่นนั้น ไม่อยากให้เป็นเช่นนี้ ฯลฯ  หรือโดยสรุปคือ ปัจจัยในธรรมเอื้ออำนวยให้กระทำตามความอยากได้ชัดเจนแล้ว มีความอยากไม่อยากที่หลากหลายแตกต่างกันไป แต่ถือเป็นภูมิที่มีพฤติกรรมไปตามความอยากความต้องการได้โดยหลักเช่นเดียวกัน___ การได้รับอัตภาพในภูมินี้เปรียบได้กับผลกรรมจากการเป็นผู้ประเสริฐขั้นต้น ที่มิก่อพฤติกรรมไปตามความยึดมั่นในอบายต่างๆตามผู้คนทั่วไปโดยง่าย หรือเป็นผู้ดำเนินตามมรรคาเพื่อละวางอุปาทานความยึดมั่นยึดถือสิ่งที่ไม่ดีไม่งามต่างๆที่ปุถุชนคนส่วนใหญ่มักยึดถือทำตามกัน

6. ภูมิแห่งความรู้สึกโดยหลัก อัตภาพในภูมินี้ขอเรียกว่า สังเวทนาญาณี กล่าวคือดำรงชีพด้วยญาณหรือจิตตามความรู้สึกได้โดยหลัก และในธรรมชาติปัจจุบันนั้นถือเป็นกลุ่มมนุษย์ที่มีวิวัฒนาการแตกยอดใหม่ออกมาจากข้อ5  หรือโดยสรุปคือ ปัจจัยในธรรมเอื้ออำนวยให้กระทำตามสิ่งต่างๆไปตามความรู้สึก มีความรู้สึกที่หลากหลายแตกต่างกันไป แต่ถือเป็นภูมิที่มีวิถีชีวิตไปตามความรู้สึกได้โดยหลักเช่นเดียวกัน ___ การได้รับอัตภาพในภูมินี้เปรียบได้กับผลกรรมจากการเป็นผู้ประเสริฐขั้นต้นซึ่งมิก่อพฤติกรรมไปตามตัณหาความชอบชังของตนโดยง่าย

ภูมิต่อไปนี้หากมีอยู่จริงย่อมเป็นผลปัจจัยอันเป็นไปในภพอื่นที่ผลปัจจัยทางกายภาพชีวภาพ ปัจจุบันมิได้เอื้ออำนวยสู่หลักความเป็นไปของอัตภาพนั้นได้ หรืออาจเป็นธรรมชาติชีวิต ณ กาลเวลาสถานที่ใดในภพปัจจุบันนี้ แต่เรายังมิอาจรู้ความเป็นไปนั้นได้

7. ภูมิแห่งการรับรู้โดยหลัก อัตภาพในภูมินี้ขอเรียกว่า สัมผัสสญาณี กล่าวคือดำรงชีพด้วยญาณหรือจิตตามความรับรู้ได้โดยหลัก และที่มีในธรรมชาติปัจจุบันนั้นถือเป็นกลุ่มมนุษย์ที่มีวิวัฒนาการแตกยอดใหม่ออกมาจากข้อ6  หรือโดยสรุปคือ ปัจจัยในธรรมเอื้ออำนวยให้กระทำตามสิ่งที่แม้เพียงรับรู้ได้ มีวิถีชีวิตไปตามสิ่งสนองความรับรู้ที่หลากหลายแตกต่างกันไป ฯ ___ การได้รับอัตภาพในภูมินี้เปรียบได้กับผลกรรมจากการเป็นผู้ประเสริฐซึ่งมิก่อ พฤติกรรมไปตามความรู้สึกของตนโดยง่าย หรือเป็นผู้ดำเนินตามมรรคาของการละวางความรู้สึกต่างๆ

8. ภูมิแห่งสฬายตนธรรมโดยหลัก อัตภาพในภูมินี้ขอเรียกว่า สฬายตนญาณี กล่าวคือดำรงชีพด้วยญาณหรือจิตในขั้นของอายตนะภายใน เช่นกระทำสิ่งต่างๆเพื่อสนองจิตใต้สำนึก(subconsciousness)ได้บ้างแล้ว ซึ่งเป็นวิถีการใช้ชีวิตที่อยู่เหนือสภาพรับรู้ในใจทั่วไป  หรือโดยสรุปคือ ปัจจัยในธรรมเอื้ออำนวยให้สามารถกระทำสิ่งต่างๆเพื่อสนองจิตใต้สำนึกข้างใน มีวิถีชีวิตไปตามสิ่งต่างๆที่อยู่เหนือสภาพรับรู้ในใจได้อย่างมากมายแตกต่าง กันไป ฯ .. (เป็นไปได้ว่า)มีธรรมชาติชีวิตที่กำหนดเหนือสิ่งสัมผัสต่างๆได้ชัดเจนแล้ว เช่นสามารถจัดการหรือกำหนดความเป็นไปใดๆของรูปลักษณะ สี เสียง กลิ่น รส ผิวสัมผัส สิ่งเหตุการณ์ต่างๆ ฯลฯ จากหลักอายตนะภายนอกปัจจุบันอันเป็นหลักสสารพลังงานทางวิทยาศาสตร์ได้ชัดเจนแล้วเพื่อสามารถสนองจิตเบื้องลึกข้างใน เป็นต้น ___ การได้รับอัตภาพในภูมินี้เปรียบได้กับผลกรรมจากการเป็นผู้ประเสริฐซึ่งมิก่อพฤติกรรมไปตามผลการกระทบรับรู้ในใจโดยง่าย

9. ภูมิแห่งรูปธรรมนามธรรมโดยหลัก อัตภาพในภูมินี้ขอเรียกว่า รูปญาณี กล่าวคือดำรงชีพด้วยญาณหรือจิตได้ตามสภาพนามธรรมในใจต่างๆที่ได้ก่อนึกคิดขึ้นไว้ สามารถสนอง subconsciousness ได้ยิ่งขึ้น  หรือโดยสรุปคือ ปัจจัยในธรรมเอื้ออำนวยให้กำหนดหรือจัดการสิ่งทางรูปธรรมต่างๆได้มากมหาศาล เพื่อสนองสิ่งที่นึกคิดไว้แล้วในใจ มีวิถีชีวิตไปกับการกำหนดสิ่งทางรูปธรรมต่างๆที่หลากหลายแตกต่างกันไป ฯ .. (เป็นไปได้ว่า)สามารถจัดการหรือกำหนดเหนือขอบข่ายอายตนะภายนอกอันเป็นหลักสสารพลังงานทางวิทยาศาสตร์ได้ชัดเจนแล้ว และอยู่ในขั้นดำเนินตามขอบข่ายของหลักมิติรูปธรรมทางเรขาคณิตศาสตร์อันเป็นปริภูมิหรือ space 3 มิติ ตลอดจนดำเนินกลไกทางนามธรรมพีชคณิตศาสตร์ควบคู่กันไปเพื่อเข้าถึงข้อเท็จจริงของมูลรูปธรรมสรรพสิ่ง เป็นต้น ___ การได้รับอัตภาพในภูมินี้เปรียบได้กับผลกรรมจากการเป็นผู้ประเสริฐซึ่งมิก่อพฤติกรรมไปตามสิ่งเหตุการณ์ต่างๆที่ซ่อนคุกรุ่นอยู่ภายในจิตใจโดยง่าย หรือเป็นผู้ดำเนินตามมรรคาของการละวางต่ออายตนะภายในต่างๆ

10. มหาภูมิแห่งผู้มีจิตสูงละเอียดอ่อนอันเป็นวิญญาณธรรมโดยหลัก อัตภาพในภูมินี้ขอเรียกว่า วิญญาณีหรือวิญญู กล่าวคือดำรงชีพด้วยความเป็นวิญญาณจิตโดยหลัก ด้วยเป็นอรูปภูมิอัตภาพที่เป็นภูมิปัจจัยเหนือรูปธรรม จึงสามารถกำหนดเหนือหลักความเป็นไปทางรูปธรรมนั้นๆได้ตามวิญญาณการนึกคิด รู้ได้โดยมิต้องอาศัยนามธรรมเป็นปัจจัย สามารถเข้าถึงความเป็นไปโดยหลักของวิญญาณธรรมอันเป็นอรูปหรือจินตภาพได้ชัดเจนแล้ว เป็นต้น เปรียบได้กับบุรุษสตรีผู้ดีงามอันเป็นปฏิเวธแห่งพระอนาคามิผล ผู้มิก่อพฤติกรรมไปตามผลนามธรรมอันเป็นมูลสิ่งเหตุการณ์ใดๆที่ก่อนึกคิดขึ้นมาในใจโดยง่าย

11. มหาภูมิแห่งผู้มีจิตสูงละเอียดอ่อนยิ่งอันเป็นสังขตธรรมโดยหลัก อัตภาพในภูมินี้ขอเรียกว่า สังขตญาณีหรือสังฆตญาณี กล่าวคือดำรงชีพด้วยความเป็นสังขารจิตโดยหลัก ด้วยเป็นอวิญญาณภูมิอัตภาพที่เป็นภูมิปัจจัยเหนือวิญญาณธรรม จึงสามารถกำหนดเหนือวิญญาณการนึกคิดได้ รู้หรือกระทำได้ยิ่งโดยเพียงแสดงอาการของสังขารภายใน(ตัวตนจิตใจของแต่ละชีวิต)ตามอิทธิพลของอวิชชาที่ย่อมยังคงมีอยู่ โดยมิต้องดำเนินให้เป็นทุกข์มากขึ้นไปสู่อาการนึกคิด สามารถเข้าถึงความเป็นไปโดยหลักของสังขตธรรมซึ่งลึกล้ำจนมิอาจนึกคิดได้ถึง(เป็นอวิญญาณหรืออจินไตย)ได้ชัดเจนแล้ว เป็นต้น เปรียบได้กับบุรุษสตรีผู้ดีงามยิ่งอันเป็นปฏิเวธแห่งพระอรหัตมรรคหรือสงฆ์ ผู้มิก่อพฤติกรรมไปตามมูลอาการนึกคิดของจิตโดยง่าย หรือเป็นผู้ดำเนินตามมรรคาอันประเสริฐยิ่งของการละวางมูลความคิดจิตใจ

12. อนุตรภูมิอันเป็นอสังขตธรรม ซึ่งอยู่เหนือพ้นจาก 11 ผลอาการในสังขตธรรม,พ้นจากข้อบังคับไปตามอัตภาพตัวตนใดๆ,พ้นจากการอยู่ภายใต้ห้วงเวลาและลำดับกาลเวลาของสังขตธรรม,เป็นไปได้เหนือเหตุผลหรือเหตุปัจจัยใดๆ
,พ้นสภาพที่เป็นอนิจจังทุกขังใดๆ ฯลฯ ได้อย่างสิ้นเชิง ด้วยสามารถละอวิชชาอันเป็นเหตุหรือต้นปัจจัยที่ยังผลสู่อาการทั้งปวงตามหลักสังขตธรรมได้อย่างบริสุทธิ์แท้จริง สามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงในธรรมทั้งปวงได้อย่างเที่ยงแท้เป็นอนันต์ พ้นจากอาการอันเป็นทุกข์น้อยใหญ่ได้ทั้งปวง  โดยภูมิสุดท้ายนี้คือการบรรลุผลความเป็นไปในธรรมสำหรับบุรุษสตรีในโลกปัจจุบันตลอดจนมนุษย์ในทุกเพศทุกโลกใดๆ ได้อย่างประเสริฐดีงามขั้นอนุตรที่หาใดเหนือเกินกว่ามิได้เลย